TRIAM UDOM

OPEN HOUSE 2025

ย้อนกลับ

โครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย

สมาชิก

75

IG : triamudom_gifted_thai

FB : โครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปี 2567

การรับสมัคร

และการสอบเข้า

uploaded photo

กิจกรรมค่ายวิชาการ ปีการศึกษา 2567

การรับสมัครและการสอบเข้า โครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย มีหลักเกณฑ์ในการรับสมัคร ดังนี้ 

1. ผู้สมัครจะต้องเป็นผู้สอบผ่านการคัดเลือกเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยไม่จำกัดแผนการเรียน

2. มีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3.50 ขึ้นไป

3. มีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมวิชาภาษาไทย 3.50 ขึ้นไป

4. มีผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย (ถ้ามี)

5. จะต้องไม่เป็นผู้สมัครเข้าโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ 


โดยการสอบเข้าจะมีการสอบคัดเลือกด้วยกันทั้งหมด 2 รอบ โดยส่งใบสมัครทาง Google Forms, เข้ารับการสอบข้อเขียน และการสัมภาษณ์ โดยสามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทางช่องทางการประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และของโครงการฯ

วิชา /

หลักสูตรเพิ่มเติมที่เรียน

uploaded photo

กิจกรรมบรรยายวิชาการ ปีการศึกษา 2567

โครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย เป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย มีการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตร "ภาษาไทยเพิ่มพูนประสบการณ์" ซึ่งมีความยากและลึกซึ้งกว่าหลักสูตรปกติ โดยมุ่งเน้นที่การเรียนการสอนทางวิชาการ เช่น ภาษาศาสตร์ วรรณคดี และวรรณกรรม รวมไปถึงคติชนวิทยา ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้รับความรู้นอกเหนือจากการเรียนในคาบเรียนปกติ และจะมีการเรียนการสอนในคาบที่ 9 และ 10 ของวันพุธ 


โดยในช่วงแรกของการเปิดปีการศึกษาจะมีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียนในโครงการฯ เพื่อให้นักเรียนมีองค์ความรู้ในการเขียนบทความ ก่อนจะมีการตีพิมพ์เป็นวารสารปิ่นจุฑา ซึ่งรวบรวมบทความต่าง ๆ จากนักเรียนภายในโครงการฯ และการทำโครงงานภาษาไทย ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานคล้ายการวิจัยในระดับอุดมศึกษา และจะมีการประมวลบทความโครงงานลงในวารสารภาษาไทยปริทรรศน์


นอกจากการเรียนการสอนด้านวิชาการ โครงการฯ ก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ การทัศนศึกษายังแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ การจัดกิจกรรมค่ายวิชาการ และการนำเสนอโครงการฯ ในงานนิทรรศการวิชาการเตรียมอุดมศึกษา (Triam Udom Open House) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ความน่าสนใจ

ของสายการเรียน

uploaded photo

กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ปีการศึกษา 2567

ความน่าสนใจของโครงการฯ อยู่ที่ผลงานทางด้านวิชาการที่โดดเด่นและกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถพัฒนาทักษะในด้านวิชาการ การทำงาน สังคม และด้านอื่น ๆ ของนักเรียนภายในโครงการฯ ได้เป็นอย่างดี สำหรับผลงานด้านวิชาการ โครงการฯ ได้มีการเรียนการสอนที่เข้มข้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของนักเรียนอยู่ตลอด โดยไม่ใช่การเรียนอย่างเดียว แต่นักเรียนในโครงการฯ ทุกคนจะต้องมีผลงานที่สามารถจับต้องได้ คือ หลังจากการบรรยายทางวิชาการที่กล่าวไปข้างต้น นักเรียนทุกคนจะต้องเขียนบทความตามหัวข้อที่นักเรียนสนใจตามองค์ความรู้ที่ได้รับ และจะมีการคัดเลือกบทความที่นักเรียนเขียน จนตีพิมพ์เป็นวารสารปิ่นจุฑา ซึ่งวารสารเล่มหนึ่ง ไม่ใช่ว่ามีแค่บทความจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีทั้งกองบรรณาธิการ สาราณียกร และตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนในโครงการฯ ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบและจัดทำทั้งหมด โดยมีคุณครูประจำโครงการฯ ช่วยเหลือดูแล


นอกจากวารสารปิ่นจุฑา นักเรียนในโครงการฯ ยังนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาต่อเป็นโครงงานภาษาไทย ซึ่งหัวข้อโครงงานก็จะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาภาษาไทย เช่น ภาษาศาสตร์, วรรณคดีและวรรณกรรม และคติชนวิทยา ซึ่งนักเรียนในโครงการฯ มีอิสระในการเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจมาพัฒนาต่อเป็นโครงงานของตัวเอง และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็จะมีการตีพิมพ์วารสารภาษาไทยปริทรรศน์ เป็นการรวบรวมบทความที่ได้จากโครงงานที่นักเรียนทำในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 


กิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งโครงการฯ เป็นผู้รับหน้าที่ในการจัดเป็นประจำทุกปี โดยในงานก็จะมีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ เช่น พิธีกร สุนทรพจน์ ฉ่อย ละคร หรือทีมงานในเบื้องหลัง และนักเรียนจะได้เริ่มทำงานตั้งแต่การวางแผนการดำเนินงาน การเตรียมงาน และรับผิดชอบการจัดกิจกรรมทั้งหมด ซึ่งทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการวางแผน การบริหารจัดการ และฝึกความสามัคคี ในทุกภาคเรียนจะมีกิจกรรมทัศนศึกษายังแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ ซึ่งจะเป็นการเดินทางระยะสั้นภายในกรุงเทพหรือปริมณทล ให้นักเรียนได้รับความรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของตัวเอง ในช่วงระหว่างปิดภาคเรียนที่ 1 ก็จะมีกิจกรรมค่ายวิชาการ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะนำนักเรียนในโครงการฯ ออกไปเข้าค่ายจำนวน 3 วัน 2 คืน โดยจะมีการเชิญวิทยากรมาเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนตามหัวข้อของแต่ละปี และจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมบายเนียร์ให้กับรุ่นพี่ ม.6 ที่กำลังจะจบการศึกษา กิจกรรมผูกข้อมือ เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง และคุณครูในโครงการฯ


และกิจกรรมนิทรรศการวิชาการ (Triam Udom Open House) นี้ ก็จะเป็นการนำเสนอโครงการฯ และผลงานโครงงานต่อบุคคลภายนอกที่มีความสนใจ ซึ่งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมด ก็จะมีคณะครูในโครงการฯ คอยดูแลและให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ

รีวิวจากรุ่นพี่

profile photo

กันสัก

เตรียมอุดม 85

IG : win.nie.the____

สวัสดีน้อง ๆ ว่าที่ TU88+ ทุกคนนะคับ พี่ชื่อพี่กันสักนะ เป็นประธานกิฟต์ไทยรุ่นที่ 20 จากสายการเรียนวิทย์-คณิต วันแรกที่พี่เข้ามาในโครงการฯ พี่รู้สึกได้ถึงบรรยากาศของคำว่าครอบครัว คำว่าบ้านที่อบอุ่น กิฟต์ไทยเป็นที่ที่ไม่ได้เน้นแค่วิชาการ แต่เป็นสถานที่ที่ทำให้เราได้ฝึกและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ตอน ม.4 ที่เราเข้ามาเป็นน้องใหม่ คอยดูรุ่นพี่ทำงานเป็นเฮด ส่วนเราก็ต้องทำหน้าที่คอยจำและคอยดูว่ารุ่นพี่ทำอะไรกันบ้าง เพื่อที่ปีต่อไปเราจะต้องขึ้นมาคอยเป็นคนดูแลจัดการ แอบกระซิบว่าตอนนั้นเราทำหน้าที่เป็นพิธีกรวันภาษาไทยด้วยนะ เป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก ๆ แบบไม่มีวันลืมเลย เราผ่านกิจกรรมมากมาย จนช่วงปลาย ม.4 เราได้มีโอกาสได้รับเลือกเป็นประธานกิฟต์ เป็นอะไรที่กดดันมาก ๆ ที่เราก็บอกกับตัวเองว่าจะทำให้ดีที่สุด ขึ้น ม.5 มา ก็เจอกับงานแรก วันภาษาไทยแห่งชาติ ที่นักเรียนในโครงการฯ ร่วมกันจัดทำขึ้นมา โดยมีครูในโครงการฯ คอยช่วยเหลืออยู่ตลอด เราได้เป็นเหมือนหัวเรือในการทำงานให้ออกมาสำเร็จ รู้สึกดีมาก ๆ สนิทกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนมากขึ้น วันภาษาไทยของเราไม่ได้มีแค่พิธีกรที่เราบอกไปตอนแรก แต่ยังมีการแสดงละครเวที, การแสดงฉ่อย และการกล่าวสุนทรพจน์ด้วย นอกจากนี้ในโครงการฯ ยังมีการเข้าค่ายนอกสถานที่และการไปทัศนศึกษาในทุก ๆ ปีอีกด้วย พูดถึงกิจกรรมในโครงการฯ ไปมากพอสมควรแล้ว สำหรับความรู้ด้านวิชาการ โครงการฯ ของเราก็ไม่ได้น้อยหน้าใครเลย โครงการฯ จะมีการเชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาให้การบรรยายแก่นักเรียน ก่อนที่จะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเป็นเนื้องานที่จับต้องได้ เช่น วารสารปิ่นจุฑา รวมไปถึงจุดเด่นของโครงการฯ ของเรา คือ โครงงานภาษาไทย ซึ่งเป็นโครงงานที่ทำกันยาวนานมาก ๆ ทำตามระเบียบวิจัยเลย พวกเราทุกคนภูมิใจในงานชิ้นนี้ของเรามาก ๆ และที่สำคัญ ยังมีการจัดการตีพิมพ์บทความวิชาการที่ในชื่อหนังสือว่า วารสารภาษาไทยปริทรรศน์อีกด้วย เราอยากฝากพวกแกทุกคน ที่มีความสนใจในโครงการ อย่าลืมเข้ามาเยี่ยมชมซุ้มกิฟต์ไทยของพวกเรา แล้วก็มาร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันเยอะ ๆ น้า

สวัสดีครับทุกคน เราอุ๊บอิ๊บ เตรียมอุดมฯ รุ่น 86 สายศิลป์ฝรั่งเศส กิฟต์ไทยรุ่น 21 ครับ


เราต้องยอมรับเลยว่าก่อนที่จะเข้าโรงเรียนนี้เรา “ไม่รู้จัก” โครงการกิฟต์ไทยมาก่อนเลยครับ แต่เมื่อมางาน Open House (ของเราคือเมื่อ 2 ปีก่อน) ทำให้เราเห็นว่า นี่มันสิ่งที่เราตามหาชัด ๆ เพราะเราก็เป็นคนที่ชอบภาษาไทยมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และด้วยโครงการนี้อีก ทำให้เราตั้งใจว่าเมื่อสอบติดเตรียมฯ แล้ว เราจะสมัครโครงการกิฟต์ไทยเลยครับ


พอเราเข้ามาในโครงการแล้ว เราก็ได้รู้เลยครับว่าโครงการนี้ ทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง คุณครู ทุกคนต่างอยู่ด้วยกันแบบอบอุ่น กลมเกลียวกันเป็นครอบครัวเลยล่ะครับ เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ต่างก็เป็นผู้ที่ชื่นชอบภาษาไทย พูดคุยกันถูกคอกันได้ไม่ยากเลยครับ ที่สำคัญคือเราจะมีเพื่อนจากทุก ๆ สายการเรียน เพราะกิฟต์ไทยเปิดรับนักเรียนจากทุกสายการเรียนเลยครับ


กิจกรรมในกิฟต์ไทยของเรามีหลากหลายมากจริง ๆ ครับ เมื่อเข้ามาแล้วเราจะได้ฟังบรรยายทั้ง 3 คลาส 3 หัวข้ออันประกอบไปด้วย ภาษาศาสตร์, วรรณคดีและวรรณกรรม และคติชนวิทยาครับ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโลกให้เราเลยครับ ว่าภาษาไทย มันมีอะไรมากมายกว่าที่เราเรียนกันในห้องไปไกลมาก ๆ เลยครับ


ต่อมาไม่นานครับ จะเป็น “งานวันภาษาไทยแห่งชาติ” เรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่ของพวกเราเลยครับ ในงานนี้พวกเราจะได้แสดงความสามารถออกมาหลายด้านมาก ๆ ครับ เพราะงานนี้เป็นการแสดงนั่นเอง จะมีทั้งการแสดงละครเวที, การแสดงฉ่อย และการกล่าวสุนทรพจน์ ที่จัดบนหอประชุมใหญ่ครับ โดยนักเรียนกิฟต์ไทยจะเป็นผู้ดำเนินงานเองทั้งหมดครับ ตั้งแต่การวางแผน, เขียนบท, ซักซ้อม, ลองเวที, ประสานงาน, ประชาสัมพันธ์, ควบคุมคิว, ควบคุมไฟ, ทำซาวด์, คอสตูม ฯลฯ โดยมีคุณครูควบคุมดูแลอยู่ เรียกได้ว่า เป็นงานของนักเรียนกิฟต์ไทยโดยแท้เลยครับ


หลังจากงานวันภาษาไทย กิฟต์ไทยจะพาไปทัศนศึกษาทริปเล็ก ๆ ครับ เป็นสถานที่ที่เราจะได้เรียนรู้ถึงศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเด็กกิฟต์ไทยอย่างพวกเราเนี่ย เอ็นจอยและมีความสุขมาก ๆ เลยล่ะครับ ซึ่งหลังจากจบงานนี้ พวกเราจะได้เขียนงานเชิงสร้างสรรค์ แอบกระซิบว่า ในปีต่อไปทุกท่านจะได้อ่านงานของพวกเราในวารสารปิ่นจุฑาด้วยนะครับ


ต่อมาจะเป็นกิจกรรมค่ายวิชาการครับ โดยพวกเราจะได้เดินทางไปนอกสถานที่เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ซึ่งจะมีหัวข้อที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ ปี พวกเราจะได้รับทั้งความรู้ ความสนุกสนาน และความสนิทสนมกันมากขึ้นครับ


หลังจากนั้นเราจะได้เริ่มทำงานชิ้นใหญ่ที่สุดของกิฟต์ไทยแล้วครับ นั่นคือ “โครงงาน” นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่โครงงานทั่ว ๆ ไปนะครับ แต่เราทำโครงงานในลักษณะของงานวิจัยทางวิชาการ เรียกได้ว่าเป็นงานวิจัยขนาดย่อม ๆ เลยล่ะครับ ซึ่งหัวข้อต่าง ๆ ก็ได้บูรณาการการศึกษาภาษาไทยเข้ากับศาสตร์ด้านต่าง ๆ ครับ เช่น นิเทศศาสตร์, นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์ และอื่น ๆ อีกมากมายเลยครับ บอกได้เลยว่าโครงงานเนี่ยมีหัวข้อที่น่าสนใจเยอะแยะมากมายเลยครับ


เมื่อจบปีการศึกษา พวกเราจะได้ทำ “วารสารปิ่นจุฑา” ซึ่งเป็นวารสารรวบรวมบทความและงานเขียนของนักเรียนกิฟต์ไทยครับ โดยวารสารปิ่นจุฑาก็เป็นงานของนักเรียนตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การทำกราฟิก รวมบทความ รวมเล่ม โดยมีคุณครูช่วยดูแลอยู่นั่นเองครับ ซึ่งเนื้อหาในวารสารปิ่นจุฑาจะมีทั้งความรู้ เกร็ดความรู้ทางภาษาต่าง ๆ ที่น่าสนใจ มีเกมสนุก ๆ ให้ลองเล่น และมีข้อมูลเกี่ยวกับพวกเรานักเรียนกิฟต์ไทยด้วยครับ


อ่านมาถึงตรงนี้ น้อง ๆ คนใดที่สนใจ ชื่นชอบ หลงใหลในภาษาไทย เราก็อยากชวนมาเป็นส่วนหนึ่งของกิฟต์ไทยในปีการศึกษาหน้านะครับ !

profile photo

อุ๊บอิ๊บ

เตรียมอุดม 86

IG : theananyod

profile photo

แม้ก

เตรียมอุดม 87

IG : 2_na_mx

สวัสดีค้าบบ เราแม้กน้า tu87 gth22

กิฟต์ไทย ในมุมมองของเราคือแหล่งรวมรวบผู้คนที่มีความชอบคล้าย ๆ กัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน มาร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน นึกอะไรไม่ออก อยากเม้า หรืออยากปรึกษาอะไร หนึ่งในกลุ่มคนที่เราอยากจะมาคลุกคลีด้วยก็คือสังคมกิฟต์นี่แหละครับ


แรกเริ่มที่ได้มาเรียน ก็มีการบรรยายความรู้เรื่องภาษาศาสตร์-วรรณคดี-คติชนวิทยา และบรรยายการทำวิจัยโครงงาน เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาการหาข้อมูลมาทำโครงงานตามที่เราสนใจ พัฒนา ปรับปรุง จนได้ผลงานที่สมบูรณ์แบบ พร้อมนำเสนอในงาน Open House โดยเนื้อหาโครงงานก็จะเกี่ยวข้องกับหนึ่งในสามของศาสตร์ความรู้ที่เราได้เรียนมานั่นเอง


กิฟต์ไทยใช่ว่าจะมีแค่วิชาการน้า เราก็มีมุมกิจกรรมเหมือนกัน กิจกรรมหนึ่งเลยที่โดดเด่นของกิฟต์ไทยคืองานวันภาษาไทยแห่งชาติ งานนี้มีทั้งงานเบื้องหน้าอย่างการแสดง เช่น สุนทรพจน์, ฉ่อย ละคร หรืองานเบื้องหลัง เช่น คุมไฟ, คุมเสียง, คุมฉาก ซึ่งเป็นงานที่มอบประสบการณ์ มิตรภาพ และความภาคภูมิใจให้กับกิฟต์ไทยหลาย ๆ คนมาแล้วครับ


ที่พิเศษสุดคือกิฟต์ไทยรับทุกสายการเรียนเลยยย ขอเพียงแค่มีความสนใจในภาษาไทย นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้กิฟต์ไทยมีความ ‘ม่วนจอย’ และหลากหลายมาก เพราะทุกคนมีความสนใจคล้าย ๆ กัน ชอบใช้เวลาส่วนมากอยู่ด้วยกัน และมี empathy ต่อกันมาก กิฟต์ไทยจึงเป็นอีกหนึ่งสังคมในเตรียมอุดมฯ ที่โดยเฉพาะคนที่หลงใหลและสนใจในศาสตร์ภาษาไทยต้องหลงรัก มีอยู่ประโยคหนึ่งที่เราชอบมาก ซึ่งก็มาจากกิฟต์ไทยนี้เองที่ว่า กิฟต์ไทยเป็นเหมือนครอบครัว


แล้วมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวกิฟต์ไทยด้วยกันน้าา เจอกันในรั้วเตรียมฯ ครับบ